ธงพระพุทธศาสนา
ธงพระพุทธศาสนา
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธงพระพุทธศาสนา ที่ใช้ทั่วไปสำหรับในประเทศไทย คือ
ธงพระธรรมจักร อันหมายถึง ธรรมะที่นำไปสอนในที่ต่าง ๆ แล้วยังความสันติสุขให้เกิดขึ้นในที่นั้น ๆ ลักษณะธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเหลืองแก่ (สีกรัก) ตรงกลางเป็นรูปพระธรรมจักรสีแดง
ปกติแล้ว รูปธรรมจักรนั้นมักทำเป็นรูปธรรมจักรประกอบด้วยซี่ล้อหรือกำ 8 ซี่ แต่ละซี่มีความหมายถึงองค์ของอริยมรรคแต่ละองค์ อันมีองค์ 8 วงล้อหมายถึง ทุกข์และสมุทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องประสบ ดุมที่เป็นศูนย์กลางและสงบนิ่งไม่หมุน หมายถึง จุดหมายสูงสุด คือ นิโรธหรือนิพพาน
จำนวนซี่ล้อหรือกำในพระธรรมจักรนั้น หากมีจำนวนต่างกันออกไป ก็อาจแทนปรัชญาธรรมอื่นๆ ได้ดังนี้
ถ้ามี 12 ซี่ หมายถึง ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท 12
ถ้ามี 24 ซี่ หมายถึง ปัจจยาการทั้งด้านเกิด 12 และด้านดับ 12
ถ้ามี 31 ซี่ หมายถึง ภูมิ 31(กามภูมิ 11 รูปภูมิ 16 และอรูปภูมิ 4)
สำหรับธงพระธรรมจักรของไทยนั้น นิยมทำรูปพระธรรมจักรให้มีกำ 12 ซี่ ดังภาพที่ปรากฏในหน้านี้
ในพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชาก็จะมีการประดับธงธรรมจักรตามสถานสำคัญต่าง ๆ เสมอ
ธงพระพุทธศาสนาสากล
ธงฉัพพรรณรังสีธงพระพุทธศาสนาในระดับสากลนั้น ใช้ธงที่มีชื่อว่า
ธงฉัพพรรณรังสี คำว่า "ฉัพพรรณรังสี" แปลว่ารัศมี 6 สี ซึ่งกล่าวกันว่าแผ่ออกจากพระกายของพระพุทธเจ้า คือ
สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน (นีละ)
สีเหลืองเหมือนหรดาลทอง (ปีตะ)
สีแดงเหมือนแสงตะวันอ่อน (โลหิตะ)
สีขาวเงินยวง (โอทาตะ)
สีแสดเหมือนหงอนไก่ (มัญเชฏฐะ)
และสีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก หรือสีประภัสสร (คือ สีทั้ง 5 ข้างต้นรวมกัน)
อนึ่ง สีในธงแต่ละสียังมีความหมายอื่นแฝงดังต่อไปนี้
สีนีละ: พระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแผ่ไพศาลไปทั่วสกลจักรวาล
สีปีตะ: มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง คือ การหลีกเหลี่ยงความสุดโต่งทั้งปวง
สีโลหิตะ: การอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จ สมบูรณ์พร้อมด้วยสติปัญญา คุณงามความดี ความเป็นผู้มีโชค และเกียรติยศทั้งปวง
สีโอทาตะ: ความบริสุทธิ์แห่งพระธรรม ซึ่งเป็นของที่ไม่จำกัดกาล (อกาลิโก) และนำชนไปสู่ความหลุดพ้น
สีมัญเชฏฐะ: พระปัญญาคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สีประภัสสร: ความจริงทั้งหมดในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธงนี้ออกแบบโดยพุทธสมาคมโคลอมโบ เมื่อ พ.ศ. 2423 พันเอกเฮนรี่. เอส. โอลคอตต์ เป็นผู้แก้ไขให้เป็นแบบที่ใช้ในปัจจุบัน ธงนี้ใช้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2428 ที่ประเทศศรีลังกา ต่อมาองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists - WFB) ได้ประกาศใช้ธงนี้เป็นธงพุทธศาสนาสากลเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ณ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา